ประวัติความเป็นมา
https://2020.nong-bo.go.th/index.php/about-us/history#sigProGalleria05ba10d0b1
ตำบลหนองบ่อ ประกอบด้วย 7 หมู่บ้าน คือ บ้านหนองบ่อ บ้านโพนงาม บ้านดงบัง บ้านจานตะโนน บ้านมะเขือ บ้านสำลาก และบ้านท่าสนามชัย
ตามความเชื่อของประชาชนตำบลหนองบ่อ ก็เชื่อว่าบรรพบุรุษมาจากลูกหลานของพระตา พระวอ ซึ่งอพยพมาจากนครเวียงจันทน์ เมื่อมาตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองบ่อก็มีผู้ให้ข้อมูลโดยแบ่งเป็นหลายสันนิษฐานเป็นต้นว่า
สันนิษฐานที่ 1 ประชาชนกลุ่มหนึ่งมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านแคบริเวณที่เป็นวัดเก่าบ้านแคซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของบ้านดงบังในปัจจุบัน เมื่อเกิดโรคระบาดจึงอพยพไปหลายทาง ประชาชนพวกหนึ่งไปทางทิศเหนือไปตั้งบ้านตากแดดบริเวณวัดป่าอารามบ้านโพนงามในปัจจุบันแล้วต่อมาย้ายไปตั้งบ้านโพนงาม พวกหนึ่งไปทางด้านทิศตะวันออกไปตั้งบ้านดงบัง อีกพวกหนึ่งไปทางทิศตะวันตก ไปตั้งบ้านหนองบ่v
สันนิษฐานที่ 2 ประชาชนกลุ่มหนึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านแคแล้วอพยพไปอยู่บ้านตากแดด ต่อมาประชาชนที่อยู่บ้านตากแดดเกิดโรคระบาดขึ้น จึงมีการแยกย้ายถิ่นฐานโดยแบ่งแยกออกเป็น 3 พวก พวกหนึ่งจะไปทางด้านทิศเหนือไปตั้งบ้านโพนงาม พวกหนึ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปตั้งบ้านดงบัง และอีกพวกหนึ่งไปทางด้านทิศตะวันตก ไปตั้งบ้านหนองบ่อ
สันนิษฐานที่ 3 ประชาชนกลุ่มหนึ่งตั้งอยู่ที่บ้านแค เมื่อเกิดโรคระบาดจึงย้ายไปตั้งบ้านใหม่ที่บ้านดงบัง ประชาชนกลุ่มหนึ่งอยู่ที่บ้านตากแดด เมื่อเกอดโรคระบาดพวกหนึ่งอพยพไปทางด้านทิศเหนือไปตั้งบ้านโพนงาม อีกพวกหนึ่งอพยพไปทางด้านทิศตะวันตกไปตั้งบ้านหนองบ่อ
สันนิษฐานที่ 4 อุดร บุญสิงห์ ได้กล่าวว่า ประชาชนชาวตำบลหนองบ่อทั้งหมดมาตั้งบ้านอยู่รวมกัน คือบ้านตากแดด เมื่อเกิดโรคระบาดจึงย้ายไปอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ
สันนิษฐานที่เกี่ยวกับบ้านจานตะโนน ประชาชนกลุ่มที่เป็นชาวบ้านจานตะโนนจะมาตั้งหมู่บ้านอยู่บริเวณที่เรียกว่า ดงบ้านโนน อยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านจะมีซากปรักหักพังของสิม (โบสถ์)เมื่อเกิดโรคระบาดจึงอพยพไปตั้งบ้านใหม่ที่บ้านจานตะโนนในปัจจุบัน
สันนิษฐานที่เกี่ยวกับบ้านมะเขือ ตามเอกสารประวัติมหาดไทย อำเภอเมืองอุบลราชธานี ตอนที่ 1 ประวัติตำบลและหมู่บ้าน กล่าวว่าประชาชนบ้านมะเขือย้ายมาจากบ้านบาก(อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้านปัจจุบัน)ทางด้านทิศตะวันออกของบ้านมะเขือซึ่งเป็นที่สาธารณะมีซากปรักหักพังของสิม(โบสถ์)แต่ไม่มีหลักฐานใดที่เกี่ยวข้องกับประชาชนบ้านมะเขือในปัจจุบัน
สันนิษฐานที่เกี่ยวกับบ้านสำลาก ตามเอกสารประวัติมหาดไทย อำเภอเมืองอุบลราชธานี ตอนที่ 1 ประวัติตำบลและหมู่บ้าน ประชาชนบ้านสำลากได้อพยพมาจากบ้านโนนกุดจอก ในเขตตำบลหนองบ่อทางทิศตะวันออกของบ้านสำลากซึ่งเป็นที่สาธารณะมีซากปรักหักพังของสิม(โบสถ์)ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่ตั้งวัดของชาวบ้านสำลากก่อนที่จะย้ายมาอยู่ในที่บัจจุบัน
สันนิษฐานที่เกี่ยวกับบ้านท่าสนามชัย ประชาชนบ้านท่าสนามชัย แยกมาจากบ้านสำลาก ตั้งชื่อหมู่บ้านเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ท่านเจ้าคุณอมราภิรักขิต (ชัย ชิตมาโร)
ความเป็นมาการตั้งหมู่บ้านตำบลหนองบ่อ ซึ่งจะเป็นด้วยสันนิษฐานที่ได้กล่าวถึง หรือจะเป็นสันนิษฐานอื่นก็ต้องมีการพิสูจน์ตามหลักวิชาการ เช่น การพิสูจน์อายุของอิฐจากซากปรักหักพังของสิมหรือโบสถ์เก่าที่มีเกือบจะทุกหมู่บ้าน คือ บ้านโพนงาม บ้านดงบัง บ้านจานตะโนน บ้านมะเขือ และบ้านสำลากถ้ามีการพิสูจน์ทราบว่าอิฐมีอายุที่แตกต่างกันหรือมีอายุที่เท่ากันก็จะสามารถใช้สันนิษฐานเพื่อประกอบการพิจารณาในการตั้งหมู่บ้านได้
คณะผู้จัดทำเอกสารได้ไปสำรวจข้อมูลในหมู่บ้านใกล้เคียงกับตำบลหนองบ่อก็พบว่า ทางด้านทิศตะวันออกของบ้านหวาง ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลี่ชธานี (บ้านหวางอยู่ห่างจากบ้านหนองบ่อ ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2 กิโลเมตร) มีที่ตั้งวัดเก่าริมฝั่งแม่น้ำชีเรียกว่าวัดท่าแจ้ง มีซากปรักหักพังของสิมหรือโบสจากวัดเก่าท่าแจ้งห่างไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2 กิโลเมตร ก็เป็นวัดเก่าท่าเค็งใกล้กับบ้านท่าศาลา ซึ่งมีซากปรักหักพังของสิมหรือโบสถ์และตั้งอยู๋ริมฝั่งแม่น้ำชีเช่นเดียวกัน แสดงว่าชุมชนในเขตตำบลหนองบ่อ และชุมชนใกล้เคียงมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานและน่าสนใจ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คือ สิมหรือโบสถ์เก่าที่สามารถพิสูจลำดับของประวัติศาสตร์ได้ จึงเป็นที่ท้าทายของนักประวัติศาสตร์ได้ จึงเป็นที่ท้าทายของนักประวัติศาสตร์ที่จะศึกษาค้นคว้าให้กระจ่างต่อไป
ตำบลหนองบ่อ ตั้งชื่อตามหมู่บ้านที่ใหญ่ที่สุดในเขตตำบล ตั้งขึ้นเมื่อใจไม่ปรากฎหลักฐาน คราวแรกตำบลหนองบ่อขึ้นกับอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ. 2485 จึงได้โอนมาขึ้นกับอำเภอเมืองอุบลราชธานีปัจจุบันตำบลหนองบ่อ เป็น 1 ใน 11 ตำบล ของอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี