ไวรัส RSV รู้ทันป้องกันลูกหลาน
ช่วงปลายฝนต้นหนาวระหว่างเดือนสิงหาคม - ตุลาคม เป็นช่วงที่เด็ก ๆ มักป่วยบ่อย เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงและมักจะรับเชื้อโรคได้ง่ายโดยเฉพาะไวรัส RSV ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดและส่งผลรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบติดเชื้อได้
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบ่อ จึงอยากฝากเกร็ดความรู้เกี่ยวกับโรค RSV ให้ทุกท่านได้ทำความเข้าใจในอาการของโรค เพื่อจะได้รับการป้องกันโรคนี้ให้ห่างไกลจากลูกหลานของท่านค่ะ
RSV ย่อมาจาก Respiratory Syncytial virus (RSV) เป็นไวรัสที่พบมากและเจริญเติบโตได้ดีในช่วงที่มีอากาศชื้นโดยเฉพาะหน้าฝน สามารถติดต่อกันได้ง่ายๆ เพียงการสัมผัสใกล้ชิด หรือสัมผัสสารคัดหลั่งทางตาหรือจมูก และลมหายใจ ดังนั้นในเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นหวัดจึงเสี่ยงต่อการรับและแพร่กระจายของเชื้อไวรัสตัวนี้มากและเด็กเล็กสามารถได้รับเชื้อไวรัสได้ตั้งแต่แรกเกิดกันเลยที่เดียว โดยเชื้อไวรัสนี้จะมีระยะฟักตัวประมาณ 2-6 วัน
ถ้าได้รับไวรัส RSV ทำให้เกิดอาการอย่างไร
RSV ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ
1.ทางเดินหายใจส่วนต้นอักเสบ ทำให้มีอาการคล้ายหวัด มีไข้ ไอ น้ำมูกไหล คออักเสบ
2.ทางเดินหายใจส่วนล่างอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ ซึ่งมักเป็นในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ในบางรายมีอาการรุนแรง ไข้สูง หอบเหนื่อย ซึ่งมีสาเหตุมาจากไวรัส RSV ตั้งแต่ 40 - 90 % รวมไปถึงปอดบวมอาการรุนแรงมากในเด็ก 1 ปี
3.กลุ่มอาการตายเฉียบพลันในทารก (sudden infant death syndrome,SIDS) พบการตายโดยไม่ทราบสาเหตุแต่สงสัยว่าไวรัส RSV อาจมีส่วนร่วม
อาการของเด็กติดเชื้อไวรัส RSV จะต่างจากการเป็นหวัดธรรมดาอย่างไร
เด็กที่เป็นหวัดธรรมดาจะมีอาการเป็นแบบหวัด มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล กินน้ำ กินนมได้ อาจกล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอแบบมีเสมหะร่วมด้วย ซึ่งจะหายได้ 5-7 วัน แต่อาการที่เกิดจากไวรัส RSV คืออาการหอบ เหนื่อย บางคนหอบมากจนเป็นโรคปอดบวม หายใจหอบจนอกบุ๋ม หายใจแรงจนหน้าอกโป่ง หายใจออกลำบาก หรือหายใจมีเสียงวี้ดแบบหลอดลมฝอยอักเสบ บางรายไอมากจนอาเจียน ซึมลง ตัวเขียว กินข้าว กินน้ำ กินนมไม่ได้ ทางที่ดีถ้าเด็กมีไข้ 3 วัน ควรรีบพาไปพบแพทย์
RSV รักษาอย่างไร
ไวรัส RSV ยังไม่มีวัคซินที่ใช้ป้องกัน รวมถึงไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ดังนั้นเมื่อเด็กได้รับไวรัสนี้จึงต้องรักษาตามอาการ เช่น ระวังการขาดน้ำเพราะจะยิ่งทำให้เสมหะเหนียวข้น และชื้อลงปลอด อาจต้องใช้ยาพ่นร่วมกับ Oxygen เพื่อช่วยขยายหลอดลม รับประทานยาลดไข้ตามอาการทุก 4-6 ชั่วโมงพร้อมกับเช็ดตัวลดไข้ นอนพักผ่อนเยอะ ๆ ร่างกายก็จะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ใช้เวลาประมาณ 7-15 วัน จึงจะหาย แต่หลังจากหายแล้ว หลอดลมและถุงลมฝอยของเด็กจะมีอาการอักเสบได้ง่ายเมื่อติดเชื้อครั้งไหม่ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลเป็นพิเศษทั้งเรื่องอาหารและการออกกำลังกายในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง
แนวทางป้องกัน
วิธีการป้องกันคือการรักษาความสะอาด คนที่ใกล้ชิดเด็กเล็กควรล้างมือบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดคนป่วย
1.ล้างมือให้เด็กบ่อย ๆ รวมถึงคนรอบข้างด้วยก็จำเป็นต้องล้างมือบ่อย ๆเช่นกัน
2.เมื่อมีเด็กป่วย หากเป็นไปได้ให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน แต่หากไม่สามารถรับกลับบ้านได้ ให้แยกเด็ก แยกเครื่องใช้ของเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายจากเชื้อโรค
******************ด้วยความห่วงใย จากองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบ่อ******************